News! ฟันคุด คืออะไร?
สุขภาพในช่องปากที่นอกจากปัญหาฟันผุ อาการปวดฟัน ก็มีอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนยังข้องใจและแอบกังวลอยู่เล็ก ๆ เรื่องนั้นก็คือ ฟันคุด นั่นเองครับ เพราะบางคนก็เคยมีประสบการณ์กับฟันคุดมาบ้างแล้ว โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่จัดฟัน คุณหมอจะให้ผ่าฟันคุดก่อนเกือบจะทุกเคสก็ว่าได้ แต่กับคนที่ยังไม่รู้ตัว ไม่เคยแม้จะรู้สึกถึงการมีตัวตนของฟันคุดมาก่อน แน่นอนว่าคงสงสัยกันบ้างว่าฟันคุดเรามีไหม แล้วเมื่อไรจะแผลงฤทธิ์ปวดจนต้องไปผ่าหรือว่าควรไปผ่าฟันคุดก่อนดี
มาทำความรู้จักฟันคุดกัน ?
ฟันคุด (impacted tooth) คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ตามปกติ ซึ่งอาจจะไม่ขึ้นมาเลยหรือขึ้นมาเล็กน้อย ไม่เต็มซี่ เนื่องจากมีพื้นที่กระดูกขากรรไกรไม่เพียงพอให้ฟันงอกขึ้นได้ หรือมีฟันซี่อื่นมาขวางไว้ โดยส่วนมากฟันซี่ที่พบบ่อยที่สุดว่าเป็นฟันคุด จะเกิดกับฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Lower third molar) ซึ่งอยู่ด้านในสุดของกระดูกขากรรไกรล่าง บางทีจะเรียกว่า ฟันกรามล่างซี่สุดท้าย เป็นฟันที่งอกหลังสุด โดยปกติแล้วฟันซี่นี้จะขึ้นในช่วงอายุประมาณ 16 – 25 ปีจนคนทั่วไปมักคิดว่าฟันคุดเกิดได้แต่กับฟันซี่นี้ แต่ในความเป็นจริงแล้วฟันคุดสามารถเกิดกับฟันซี่อื่นได้ด้วย เช่น ฟันเขี้ยว (canine) ฟันกรามน้อย (premolar) เป็นต้น
ฝรั่งจะเรียกฟันกรามล่างซี่ที่สาม (Lower third molar) ว่า “Wisdom tooth” แปลว่า ฟันของคนที่มีปัญญา ไม่ใช่ฟันที่มีปัญญา เพราะฟันซี่นี้จะขึ้นในช่วงอายุที่คนนั้นเริ่มเป็นผู้ใหญ่ มีปัญญาดีที่จะเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้
เราสามารถแบ่งชนิดของฟันคุดได้โดยดูจากความสัมพันธ์และทิศทางการขึ้นเทียบกับฟันข้างเคียงได้ ดังรูป
1. Horizontal impaction ฟันคุดมีลักษณะการวางตัวแนวนอนตามขวาง
2. Angular impaction ฟันคุดเอียงเข้าหาฟันกรามซี่ที่สอง
3. Vertical impaction ฟันคุดตั้งตรงแบบฟันกรามซี่ที่สอง
ซึ่งลักษณะการขึ้นและทิศทางการวางตัวของฟันคุดมีความยากง่ายต่อการผ่าตัดเอาฟันคุดออก ดังนั้น จำเป็นต้องเอ็กซเรย์ (X-ray) เพื่อดูให้แน่ใจว่าฟันคุดมีลักษณะเป็นแบบใด โดยการเอ็กซเรย์มีทั้งแบบเฉพาะซี่ (Periapical film) หรือแบบทั้งปาก (Panoramic film)
ทำไมเราต้องผ่าฟันคุด ไม่ต้องผ่าฟันคุดได้ไหม คำถามยอดฮิตที่ทันตแพทย์มักจะโดนถามเป็นประจำ และคำตอบที่ทันตแพทย์มักจะให้ก็คือควรจะผ่าตัดออก เนื่องจากบริเวณที่เป็นฟันคุดมักจะทำความสะอาดได้ยาก มักจะมีเศษอาหารสะสมอยู่ที่ช่องว่างระหว่างฟันคุดกับฟันซี่ข้างเคียง ทำให้เหงือกที่คลุมฟันอักเสบได้ (pericoronitis) และยังทำให้ฟันซี่ข้างเคียงผุหรือเป็นโรคเหงือกได้ด้วย นอกจากนี้ฟันคุดยังอาจทำให้เกิดปัญหาฟันล้มเก ปัญหาการละลายตัวของรากฟันข้างเคียง และยังอาจทำให้เกิดถุงน้ำหรืออันมีสาเหตุจากฟันได้ด้วย โดยสาเหตุที่ต้องผ่าฟันคุดมีดังนี้
1. เพื่อป้องกันอาการปวดจากการที่ฟันกรามซี่ที่ 3 ขึ้นไม่ได้เนื่องจากเบียดฟันซี่ข้างๆ อยู่ หรือติดกระดูกเรมัส ทำให้เกิดแรงดันบริเวณขากรรไกรขึ้น บางรายที่รากฟันคุดยาวไปกดหรือเกี่ยวคลองประสาทและเส้นเลือดที่อยู่ในขากรรไกร ทำให้เกิดอันตรายต่อเส้นประสาทและเส้นเลือดนั้นได้ หากไม่รีบเอาออกหรือทิ้งไว้นาน หรือในฟันคุดบนถ้าทิ้งไว้นานโพรงไซนัสย้อยต่ำลงมา การผ่าฟันคุดออกอาจทำให้เกิดรอยทะลุระหว่างช่องปากและโพรงไซนัสได้
2. เพื่อป้องกันการอักเสบของเหงือกที่ปกคลุมฟัน เพราะจะมีเศษอาหารเข้าไปติดอยู่ใต้เหงือกนั้นแล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้ เชื้อแบคทีเรียที่มาสะสมอยู่จะทำให้เหงือกอักเสบ ปวด และบวมเป็นหนองมีกลิ่นมาก ถ้าทิ้งไว้การอักเสบจะลุกลามไปใต้คางหรือใต้ลิ้น ซึ่งจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่าย นับว่าเป็นอันตรายอย่างยิ่ง บางรายถ้าเหงือกอักเสบมากและฟันคู่สบงอกยาวลงมากัดโดนเหงือก จะยิ่งทำให้อาการปวดรุนแรงมาก
3. เพื่อป้องกันฟันข้างเคียงผุ ซอกฟันระหว่างฟันคุดกับฟันกรามซี่ที่ 2 ที่อยู่ชิดกันนั้น ทำความสะอาดได้ยาก เศษอาหารจะติดค้างอยู่ทำให้เกิดฟันผุได้ทั้งสองซี่ บางรายที่เป็นมากๆ อาจจะต้องเอาฟันทั้ง 2 ซี่นี้ออกเลยทีเดียว
4. เพื่อป้องกันการละลายตัวของกระดูก แรงดันจากฟันคุดที่พยายามดันขึ้นมาจะทำให้กระดูกรอบรากฟันหรือรากฟันข้างเคียงถูกทำลายไป ในรายที่ฟันข้างเคียงยังไม่ผุ การผ่าฟันคุดล่าช้าเกินไปจะทำให้กระดูกหุ้มรากฟันและรากฟันซี่ข้างเคียงถูกทำลายหายไปอาจจะกระทบกระเทือนต่อการมีชีวิตของฟันซี่นั้นไปด้วย
5. เพื่อป้องกันการเกิดถุงน้ำ หรือเนื้องอกฟันคุดที่ทิ้งไว้นาน เนื้อเยื่อที่หุ้มรอบฟันคุดอาจจะขยายใหญ่ขึ้นกลายเป็นถุงน้ำแล้วโตขึ้นโดยไม่แสดงอาการเลย จนในที่สุดเกิดการทำลายฟันซี่ข้างเคียงและกระดูกรอบๆ บริเวณนั้น หากไม่เคยได้รับการตรวจฟันมักจะรู้ตัวอีกทีเมื่อเห็นใบหน้าเอียง หรือขากรรไกรข้างหนึ่งใหญ่กว่าอีกข้าง ซึ่งถ้าพบและรีบทำการผ่าตัดออกได้เร็ว ช่วยลดการสูญเสียอวัยวะขากรรไกร ยังสามารถรักษารูปหน้าให้เหมือนเดิมได้ แต่ถ้าถุงน้ำหรือเนื้องอกมีขนาดใหญ่มากๆ ก็อาจต้องตัดขากรรไกรบางส่วนออกทำให้เสียรูปหน้าบริเวณนั้นได้
6. เพื่อป้องกันกระดูกขากรรไกรหัก เนื่องจากการที่มีฟันคุดฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรจะทำให้กระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นบางกว่าตำแหน่งอื่น เกิดเป็นจุดอ่อนเมื่อได้รับอุบัติเหตุ หรือกระทบกระแทกกระดูกขากรรไกรบริเวณนั้นก็จะหักได้ง่าย
7. ในการจัดฟันเพื่อแก้ไขฟันหน้าซ้อนเก มักต้องถอนฟันกรามซี่ที่3 ออกเสียก่อนเพื่อให้ง่ายต่อการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ และแรงดันของฟันคุดยังมากพอที่จะผลักให้ฟันข้างเคียงรับแรงกระทบต่อๆ กันไปจนทำให้การแก้ไขฟันหน้าบิดซ้อนเกไม่ได้รับผลที่ดี
8. ผู้สูงอายุที่ฟันกรามถูกถอนออกแต่ไม่ได้ถอนฟันคุดออกไป และต้องใส่ฟันเทียมถอดได้ ฟันเทียมด้านท้ายจะไปกดกระดูกทำให้กระดูกละลายไปทำให้เจ็บบริเวณด้านท้ายฟันเทียมได้หากรู้อย่างนี้แล้ว คงไม่อยากปล่อยฟันคุดนี้เป็นอุปสรรคในชีวิต การผ่าฟันคุดออกตอนที่ยังไม่ปวดจะง่ายและไม่เจ็บปวดเท่าตอนที่ระบมและเจ็บปวดจากฟันคุด
การผ่าตัดฟันคุดมีผลอย่างไร เป็นอีกหนึ่งอย่างที่คนไข้ควรรู้ โดยผลของการผ่าตัดฟันคุดมีหลายอย่าง เช่น อาการปวด บวม อักเสบบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งคล้ายคลึงกับการผ่าตัดเล็กโดยทั่วไปซึ่งอาการเหล่านี้จะค่อยๆ ดีขึ้นได้เอง แต่มีสิ่งที่แตกต่างคือ บางครั้งการผ่าตัดฟันคุดอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญคืออาการชาบริเวณ ริมฝีปากล่างและคาง ซึ่งเหมือนกับตอนที่ทันตแพทย์ฉีดยาชาให้ อาการดังกล่าวนี้เป็นผลจากการบาดเจ็บของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงฟันในขากรรไกรล่าง (inferior alveolar nerve) ซึ่งบางครั้งพบว่าเส้นประสาทนี้อยู่ใกล้ชิดกับฟันคุดมากจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ อาการชานี้อาจคงอยู่เป็นวัน เดือน หรือเป็นปีขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการบาดเจ็บต่อเส้นประสาท แต่อาการชานี้จะไม่รบกวนต่อการดำรงชีวิต หรือการรับรู้รสชาติอาหารแต่อย่างใด เพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาดังกล่าว ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผ่าตัดฟันคุดออกในวัยรุ่น อายุประมาณ 18-25 ปี เนื่องจากรากฟันจะยังไม่ยาวจนไปชิดกับเส้นประสาทดังกล่าว